ฉ้อโกงสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ไหม
# สลากกินแบ่งรัฐบาลที่ได้จากการหลอกลวงที่ขายเกินราคา
แม้มีเจตนาหลอกลวงให้ผู้ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลส่งมอบสลากกินแบ่งให้โดยไม่มีเจตนาที่จะใช้เงินจากการขายสลากกินแบ่งให้แก่ผู้ขายก็ตาม ก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517
มาตรา 39 ผู้ใดเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ และยังไม่ได้ออกรางวัล ในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
เรื่องจริงอิงฎีกา/ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 577/2561
.........โจทก์ตกลงจำหน่ายสลากกกินแบ่งรัฐบาลให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคาเงินเชื่อฉบับละ 100 บาท โดยรู้อยู่ว่าเป็นการขายสลากกินแบ่งเกินราคาฉบับละ 80 บาท ที่กำหนดในสลากกินแบ่งจำนวน 650 เล่ม เป็นเงิน 6,500,000 บาท แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 เพื่อผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการขายสลากกินแบ่งเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่ง แม้จำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตหลอกกลวงโจทก์เพื่อให้โจทก์ส่งมอบสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน 650 เล่ม โดยไม่มีเจตนาจะใช้เงินที่จำหน่ายสลากกินแบ่งที่ได้รับไปจากโจทก์มาแต่แรกก็ตาม แต่ผลประโยชน์ที่โจทก์จะได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่งจากจำเลยที่ 1 เป็นผลประโยชน์ที่ได้สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์กระทำความผิดฐานจำหน่ายสลากกินแบ่งเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่งตามพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 มาตรา 39 ประกอบกับการกระทำของโจทก์ดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นการส่งเสริมให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานจำหน่ายสลากกินแบ่งเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่งอีกด้วย โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ฉ้อโกงโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341