สัญญากู้ (หรือไม่) ที่ไม่ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก็ต้องใช้หนี้
# หลักฐานที่ไม่ใช่สัญญากู้ไม่ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก็ต้องใช้หนี้
การติดอากรแสตมป์ในสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อผู้ให้กู้ยืมจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อให้ผู้กู้ยืมเงินชำระหนี้ต้องมีการปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าอากรแสตมป์ที่ปิดทับในหนังสือกู้ยืมเงินด้วย แต่การติดอากรแสตมป์บนหนังสือที่ทำเป็นหลักฐานโดยมีลายมือชื่อตรงช่องผู้ให้กู้และผู้กู้แม้มิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ที่ปิดทับในหนังสือที่เป็นหลักฐานผู้กู้ก็ต้องชำระหนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 653 การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
เรื่องจริงอิงฎีกา/ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1229/2560
..........เอกสารมีข้อความว่า “ 23 กุมภาพันธ์ 2549 ให้เช็คเงินสด 1,500,000 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน) แก่ อ. (สถานที่ให้ที่ธนาคาร น.) ผู้กู้ (อ.) สัญญาให้ดอกเบี้ยเดือนละ 5,000 บาท (ห้าพันบาท) ของทุก ๆ เดือน...” ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเพียงการบันทึกเป็นหลักฐานว่ามีการมอบเช็คให้แก่จำเลย โดยจำเลยอยู่ในฐานะผู้กู้ ดังความตอนท้ายระบุตรงที่มีลายมือชื่อจำเลยว่า ผู้กู้ และระบุตรงที่มีลายมือชื่อโจทก์ว่า ผู้ให้กู้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยก็มิได้กำหนดไว้ชัดเจน แต่สามารถคำนวณได้ว่าหากต้องให้ดอกเบี้ยเดือนละ 5,000 บาท ในต้นเงิน 1,500,000 บาท ตามที่ระบุในเช็คก็จะคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี จึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจึงไม่เข้าลักษณะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะปิดอากรแสตมป์ในเอกสารดังกล่าวแต่มิได้ขีดฆ่า ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้