ยักยอกหุ้นมีความผิดหรือไม่

 

# หุ้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่ยักยอกได้

หุ้น คือ ตราสารที่ออกโดยบริษัท  ห้างหุ้นส่วน และสหกรณ์  โดยผู้ที่ถือหุ้นนั้น  เป็นการแสดงให้เห็นถึงส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิอยู่ในบริษัท เช่น สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล เข้าประชุมลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่  และหุ้นที่ถือนั้นก็เป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งที่ผู้ถือหุ้นอาจจำหน่ายจ่ายโอนและเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาทได้  ซึ่งหุ้นมีหลายชนิด เช่น หุ้นสามัญ  หุ้นบุริมสิทธิ  หุ้นด้อยสิทธิ  ซึ่งหุ้นชนิดต่าง ๆ เป็นทรัพย์สินแต่ไม่อาจครอบครองเพื่อยักยอกหุ้นกันได้

 

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 352  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี  หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

เรื่องจริงอิงฎีกา/  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13089 - 13090/2558  

………ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 นั้น  ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำที่ผู้กระทำความผิดครอบครองอยู่จะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่างหรือจับต้องสัมผัสได้   แต่หุ้นตามฟ้องเป็นเพียงสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสิทธิและหน้าที่หรือส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมทั้งสองที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1  จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จะเบียดบังยักยอกได้  ทั้งปรากฏว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นเพียงการยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนเท่านั้น ยังหามีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในหุ้นของโจทก์ร่วมทั้งสองไม่  ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

Visitors: 59,600