เจ้าหนี้กองมรดกจัดการมรดกลูกหนี้ได้หรือไม่
# เจ้าหนี้กองมรดกเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่
เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งถึงแก่ความตาย มรดก (ทรัพย์สินทุกชนิด) ของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยทันที ซึ่งทายาทของผู้ตายมีสิทธิร้องขอต่อศาลเป็นผู้จัดการมรดกนั้นได้ แต่ถ้าผู้ตายมีหนี้อยู่ก่อนถึงแก่ความตาย เมื่อเจ้าหนี้เรียกร้องหนี้จากผู้มีสิทธิรับมรดกทายาทของผู้ตายไม่ต้องรับผิดใช้หนี้เกินกว่าทรัพย์สินที่เป็นมรดกตกทอดถึงทายาทผู้รับมรดก (ได้รับมรดกเท่าใดชดใช้หนี้เท่านั้น) นอกจากนี้บุคคลผู้เป็นเจ้าหนี้ของผู้ตายก็อาจร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้เช่นเดียวกับทายาทของผู้ตาย แต่กองมรดกนั้นต้องไม่มีทายาทและมีผู้จัดการมรดก เจ้าหนี้กองมรดกจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องจัดการมรดกของลูกหนี้ผู้ตายต่อศาลได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1600 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้.......
เรื่องจริงอิงฎีกา/ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5008/2545
.......... เจ้าหนี้กองมรดกที่จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 นั้น ต้องเป็นกรณีที่กองมรดกไม่มีทายาทและผู้จัดการมรดก เพราะหากไม่มีทายาทหรือผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใดเจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้เลย แต่เมื่อกองมรดกมีทายาทร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแล้วก็มีตัวทายาที่จะต้องรับผิดชำระหนี้จากกองมรดกให้แก่เจ้าหนี้ได้ ฉะนั้น เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว จึงมีผู้รับผิดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ไม่กระทบถึงส่วนได้เสียของผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ไม่มีสิทธิคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้