หน้าแรก > คำพิพากษาศาลฎีกาน่าดู >
เรื่องจริงอิงฎีกา/เงินค่าจ้างของลูกจ้างเมื่อหยุดงาน
เงินค่าจ้างของลูกจ้างเมื่อหยุดงาน
# เงินค่าจ้างของลูกจ้างต้องไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าเมื่อนายจ้างหยุดงาน
เมื่อนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการ นายจ้างก็ยังมีภาระต้องจ่ายค่าจ้างให้ครบตามกฎหมายแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างแก่ลูกจ้าง ไม่ว่าด้วยเหตุใดถ้าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ซึ่งในปัจจุบัน (น่าเห็นใจทั้งนายจ้างและลูกจ้าง)
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562
มาตรา 75 ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ณ สถานที่จ่ายเงินตามมาตรา 55 และภายในกำหนดเวลาการจ่ายเงินตามมาตรา 70 (1)
เรื่องจริงอิงฎีกา/ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8131/2553
...............ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ต้องการคุ้มครองนายจ้างในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว แต่นายจ้างยังมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนอีกต่อไป เพื่อเป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายของนายจ้างจึงให้นายจ้างรับภาระจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงครึ่งเดียวแทนที่จะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเต็มจำนวนในระหว่างที่หยุดกิจการนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองลูกจ้างด้วย เพราะหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้ จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างทำให้ลูกจ้างต้องตกงานขาดรายได้และได้รับความเดือนร้อน สำหรับความจำเป็นของนายจ้างที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้จะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมากทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้ มิใช่เป็นแต่เพียงความจำเป็นทั่ว ๆ ไป เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบแก่กิจการของนายจ้างมากนัก อีกทั้งระยะเวลาในการแก้ไขเหตุแห่งความจำเป็นดังกล่าวจะต้องมีกำหนดเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในระหว่างวันที่ 15 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2547 โจทก์สั่งให้ลูกจ้างคือ ป. กับพวกรวม 73 คน หยุดทำงานชั่วคราวเป็นบางวันเป็นระยะ ๆ การหยุดทำงานชั่วคราวดังกล่าวโจทก์แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าเพียงหนึ่งหรือสองวันเท่านั้น และสาเหตุที่โจทก์ให้ลูกจ้างหยุดงานเนื่องจากลูกค้าสั่งซื้อสินค้าลดลง ลักษณะการสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราวของโจทก์ดังกล่าวเป็นการหยุดงานเป็นบางวันเป็นระยะ ๆ ตามที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ประสบปัญหาการสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าลดลงซึ่งไม่มีความแน่นอน แม้โจทก์จะอ้างว่าลูกค้าจะสั่งซื้อสินค้าเป็นรายสัปดาห์ โจทก์จะทราบการสั่งซื้อล่วงหน้าเพียง 3 วัน ถึง 5 วันก็ตามก็เป็นเรื่องปกติของการค้าที่อาจอาจจะมีความไม่แน่นอนบ้าง โจทก์ควรจะต้องวางแผนการบริหารกิจการของโจทก์ล่วงหน้า มิใช่นำสาเหตุดังกล่าวมาสั่งให้ลูกจ้างหยุดทำงานชั่วคราวเป็นบางวันเป็นระยะ ๆ เช่นนี้ ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างนั้นยังมิใช่เหตุจำเป็นถึงขนาดต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามที่ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้แต่อย่างใด คำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานที่ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างส่วนที่ขาดอยู่ร้อยละห้าสิบแก่ลูกจ้างชอบแล้ว